ภาษีบริษัทกงสี (ตอนที่ 2)
Tax on Holding Company (Part 2)
โดย
ดร. สุวรรณ วลัยเสถียร
ประธานชมรมคนออมเงิน www.saverclub.org สงวนลิขสิทธิ์
นักธุรกิจและคหบดีสมัยใหม่มักจะคุ้นเคยกับคำว่า Family Company คือ ใช้เป็นนิติบุคคลที่จะรวบรวมทรัพย์สินต่าง
ๆ ของวงศ์ตระกูลไว้ในลักษณะที่เป็น Holding Company ตรงกับภาษาไทยก็คือ
บริษัทกงสี นั่นเอง
ประโยชน์ของการใช้บริษัทกงสีผมขอกล่าวเพิ่มเติมในตอนนี้ได้ดังนี้
1. บริษัทเป็นนิติบุคคลไม่มีการหมดอายุ คือ ไม่ตายเหมือนบุคคลธรรมดา ตราบใดที่ผู้ถือหุ้นไม่ลงมติพิเศษเพื่อเลิกกิจการและชำระบัญชี
หรือไม่มีเจ้าหนี้มาฟ้องให้บริษัทล้มละลาย หรือมีคำสั่งศาลให้เลิกกิจการ อาทิเช่น
เหลือผู้ถือไม่ถึง 3 คน บริษัทกงสีย่อมอยู่ยงคงกระพันไปนับเป็นร้อย ๆ ปี
ต่างกับบุคคลธรรมดาที่ว่า ไม่ว่าคุณจะถนอมรักษาชีวิตร่างกายไว้อย่างไรก็ตาม
วันหนึ่งคนเราจะต้องแก่และตายไปในที่สุด เมื่อบุคคลนั้นตาย ทรัพย์สินของเขาทั้งหมดอันตกเป็นกองมรดกเพื่อแบ่งให้กับทายาท
ไม่ว่าจะเป็นทายาททางสายเลือดซึ่งกฎหมายเรียกว่า “ทายาทโดยธรรม”
หรือทายาทในทางกฎหมายซึ่งเรียกว่า “ทายาทตามพินัยกรรม ดังนั้น
เมื่อใช้บริษัทกงสีเป็นเครื่องมือในการถือกรรมสิทธิ์ควบคุมทรัพย์ต่าง ๆ
ของครอบครัวแล้ว ทำให้มั่นใจได้ว่าสินทรัพย์เหล่านั้นอยู่กับบริษัทกงสีต่อไปอีกนานเท่านาน
2. การใช้บริษัทกงสีเป็นเครื่องมือในการรวบรวมทรัพย์สินย่อมทำให้ครอบครัวหรือวงศ์ตระกูลของบุคคลนั้นรู้ว่าเขามีทรัพย์สิน
หรือหนี้สินอะไรบ้าง เพราะบริษัทจะต้องจัดทำบัญชีและให้ผู้สอบบัญชีทำการตรวจรับรอง
จากนั้นก็ต้องยื่นบัญชีต่อกรมพัฒนาธุรกิจและกรมสรรพากรด้วย
ซึ่งจะปรากฏทั้งด้านเจ้าหนี้และลูกหนี้หรือสินทรัพย์
ทรัพย์สินของคนเราปัจจุบันมีหลายอย่าง
เช่น ทรัพย์สินมีรูปร่าง ทรัพย์สินไม่มีรูปร่าง ทรัพย์สินในประเทศ
ทรัพย์สินต่างประเทศ แต่เดิมมาคนไทยอาจจะมีทรัพย์สินกระจายอยู่ทั่วประเทศ
แต่สมัยนี้ครอบครัวขนาดกลางหรือขนาดใหญ่อาจจะมีทรัพย์สินอยู่ในประเทศต่าง ๆ
ด้วยก็ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่รัฐบาลโดยกระทรวงการคลังก็ดี กระทรวงพาณิชย์ก็ดี
คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (Board of Investment – BOI) ธนาคารแห่งประเทศไทย
และสำนักงานกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) ส่งเสริมให้คนไทยเราไปลงทุน
หรือตั้งบริษัทหรือเปิดกิจการต่างประเทศเพื่อค้าขายหรือเพื่อเจาะตลาดต่าง ๆ
ถ้าใช้บริษัทกงสีถือทรัพย์สินเหล่านี้ เจ้าของ ผู้ถือหุ้น
และทายาทก็จะได้รับข้อมูลที่ชัดเจน
ผมมีเพื่อนคนหนึ่งซึ่งขายหมูหยอง
หมูแผ่น เขาพยายามจะส่งสินค้าเข้าไปในตลาดยุโรป แต่พบว่าเจ้าหน้าที่สาธารณสุขและเจ้าหน้าที่ฝ่ายพาณิชย์ของEU มักจะอ้างว่า คุณภาพเนื้อหมูที่มาทำเป็นหมูแผ่น หรือหมูหยอง
ยังไม่ได้มาตรฐานตามที่ EU วางเอาไว้ วิธีการเจาะตลาดเพื่อนำเอาหมูหยอง
หมูแผ่น ไปขายในทวีปยุโรปได้ก็คือ
ไปซื้อกิจการของบริษัทที่ชำแหละเนื้อหมูในประเทศโปแลนด์ซึ่งเป็นสมาชิกรายหนึ่งของ EUแล้วไปทำหมูหยอง หมูแผ่น ที่ประเทศนั้น
จากนั้นสินค้าจากโปแลนด์ก็สามารถนำเข้าไปขายในประเทศต่าง ๆ ใน EU ซึ่งมีอยู่กว่า 20 ประเทศ ไม่ติดขัดเหมือนกับสินค้าที่ผลิตจากที่อื่น
การที่บริษัทมีบัญชีทรัพย์สิน
หนี้สิน มีสมุห์บัญชีและผู้สอบบัญชีคอยดูแลควบคุมอยู่ ทำให้รู้ว่า ครอบครัว
หรือตระกูลของเจ้าของมีทรัพย์สินอยู่เท่าใด ด้วยการตรวจสอบบัญชีสินทรัพย์ของบริษัทก็จะเห็นได้ชัดเจน
3. ทรัพย์สินที่มีค่าในสมัยปัจจุบัน คือ
ทรัพย์สินไม่มีรูปร่างที่เป็นทรัพย์สินทางปัญญา ทั้งคนไทยและคนต่างประเทศ
ได้ไปจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญาไว้เพื่อรักษาสิทธิ ไม่ว่าจะเป็นเครื่องหมายการค้า
เครื่องหมายบริการ สูตรการผลิตสินค้าประเภทต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นอาหาร เครื่องดื่ม
เครื่องสำอาง หรือยา
โดยให้บริษัทเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ของทรัพย์สินทางปัญญาเหล่านี้
แล้วให้บุคคลในครอบครัวรวมกันเป็นผู้ถือหุ้น เพื่อว่าสมาชิกครอบครัวจะได้เป็นเจ้าของร่วมในทรัพย์สินทางปัญญา
นอกจากนี้การใช้บริษัทกงสีเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินทางปัญญาก็เป็นช่องทางในการวางแผนภาษีให้มีความรัดกุมและชำระภาษีเฉพาะส่วนที่กฎหมายบัญญัติว่าถึงกำหนดเวลาต้องชำระ
การใช้บริษัทเป็นเครื่องมือในการรวบรวมทรัพย์สินจึงได้ประโยชน์อย่างยิ่ง
เพราะจะเสียภาษีน้อย เสียช้า และได้ใช้เครดิตภาษีอีกด้วย ซึ่งเราจะกล่าวในตอนต่อไป
ดร.
สุวรรณ |