ภาษีบริษัทกงสี (ตอนที่ 4)
Tax on Holding Company (Part 4)
โดย
ดร. สุวรรณ วลัยเสถียร
ประธานชมรมคนออมเงิน www.saverclub.org สงวนลิขสิทธิ์
การใช้บริษัทกงสีเป็นที่รวบรวมทรัพย์สินและข้อมูลของวงศ์ตระกูลช่วยให้เสียภาษีน้อย
โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริษัทกงสีที่ถือหุ้นต่าง ๆ ไม่ว่าจะถือไว้เป็นการลงทุนระยะยาว
หรือทำการค้าหุ้น โดยขออธิบายดังนี้
1. ลงทุนระยะยาว
การซื้อหุ้นซึ่งมีศักยภาพดีมีโอกาสที่ผู้ลงทุนจะได้กำไรเป็นอย่างมาก
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด คือ หุ้นของบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) (SCC)
ซึ่งขณะนี้ราคาจดทะเบียนหรือ par value อยู่ที่หุ้นละ 1 บาท
แต่ราคาซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์อยู่หุ้นละ 476 บาท ดังนั้น
ถ้าใครซื้อหุ้นดังกล่าวตั้งแต่ SCC ออกขายใหม่ ๆ
และสามารถซื้อได้ที่ราคา par หุ้นตัวนี้เคยขึ้นไปสูงถึง 550
บาท ดังนั้น ผู้ที่ถืออยู่จะได้กำไรประมาณ 500 เท่า หรือคิดแล้วเป็น 50,000%
และถ้ารวมเงินปันผลที่ได้รับมาตลอดเวลาหลายสิบปีก็จะได้อีกประมาณ 750 บาท
ซึ่งท่วมราคาหุ้นที่ซื้อขายเสียอีก
เนื่องจากบริษัทกงสีจะจ่ายภาษีต่อเมื่อมีกำไรจากการขายหุ้น
ดังนั้น แม้ราคาหุ้นจะขึ้นไปมาก ตราบใดที่ยังไม่มีการจำหน่ายจ่ายโอนก็ยังไม่ต้องบันทึกกำไร
ไม่ต้องภาษี ทั้งนี้ ตามประมวลรัษฎากรมีข้อยกเว้นอยู่ข้อเดียวสำหรับทรัพย์สินที่ถือไว้ราคาขึ้นลงก็ต้องบันทึกกำไรขาดทุน
คือ เงินตราต่างประเทศตามมาตรา 65 ทวิ (5) ซึ่งต้องมีการตีราคาตามอัตราแลกเปลี่ยนของธนาคารแห่งประเทศทุกวันสิ้นรอบปีบัญชี
เพื่อเอาผลกำไรหรือขาดทุนมาคำนวณภาษี
ดังนั้น กรณีถือหุ้น แม้ขายหุ้นได้กำไร
หากบริษัทมีหุ้นบางตัวใน Portที่ขาดทุน ก็สามารถขายตัวขาดทุนเพื่อนำผลขาดทุนมาตัดจากกำไรได้ จะไม่ต้องเสียภาษีหรือเสียน้อย
2. ใช้บริษัทกงสีเป็นเครื่องมือในการค้าหุ้น
การซื้อขายหุ้นผ่านบริษัทกงสีหรือบริษัทจำกัดทั่วไป
ผลดีคือ
(1) บริษัทเสียภาษีจากกำไรการซื้อขายหุ้นก็จริง
แต่ตามกฎหมายถ้าบริษัทมีผลขาดทุนจากการซื้อขายหุ้นในรอบปีเดียวกันก็นำผลขาดทุนนั้นไปหักออกจากกำไรได้
และไม่ใช่หักได้เฉพาะกำไรจากการซื้อขายหุ้นเท่านั้น
แต่กำไรทุกประเภทของกิจการบริษัทในรอบบัญชีนั้นก็หักผลขาดทุนนี้ได้ซึ่งเป็นหลักการที่ยุติธรรม
ที่ว่า กำไรต้องเสียภาษี แต่ขาดทุนหักภาษีได้
(2) ถ้ามีผลขาดทุนมากกว่ากำไรก็สามารถยกยอดขาดทุนสะสมไปได้อีก
5 ปี เพื่อตัดกับกำไรในอนาคต
(3) นอกจากนี้บริษัทยังหักต้นทุนค่าดอกเบี้ยได้ด้วย
กล่าวคือ ถ้าบริษัทต้องกู้ยืมเงินเพื่อใช้ซื้อขายหุ้น หรือเพื่อถือหุ้นไว้เป็นทรัพย์สิน
ดอกเบี้ยจากเงินกู้ยืมถือเป็นค่าใช้จ่ายของหุ้นที่ซื้อขายและนำมาหักจากกำไรได้
ประโยชน์อันนี้นักเล่นหุ้นที่เป็นบุคคลธรรมดาไม่มีสิทธิใช้
ในด้านการเงินทุกคนก็รู้ว่าทุกบาททุกสตางค์มีค่าในตัวมันเอง เพราะถ้าหากไม่เอาไปซื้อขายหุ้น
แต่เอาไปฝากธนาคาร หรือซื้อพันธบัตรก็ได้ดอกเบี้ย หรือซื้อกองทุนอสังหาริมทรัพย์ก็ได้ส่วนแบ่งกำไรจากหน่วยลงทุน
แม้เอาไปลงทุนอย่างอื่นก็อาจมีผลกำไร ดังนั้น
ดอกเบี้ยจากเงินกู้ยืมที่ใช้ในการซื้อขายหุ้น จึงถือเป็นค่าใช้จ่ายอย่างหนึ่งในการประกอบกิจการของบริษัท
สามารถหักเป็นรายจ่ายจากกำไรทุกประเภทได้
3. ค่าธรรมเนียมนายหน้าตัวแทน (Broker Fee) ที่เกิดขึ้นทุกครั้งของการซื้อขายหุ้นก็หักเป็นรายจ่ายได้เช่นกัน
ปัจจุบันสำนักงาน กลต. และตลาดหลักทรัพย์กำหนดให้เก็บค่านายหน้ามาตรฐานอยู่ที่
0.25% ของมูลค่าที่ซื้อหรือขายหุ้นแต่ละครั้ง
ไม่ว่าผู้ซื้อหรือผู้ขายจะมีกำไรหรือขาดทุนหรือไม่ก็ตาม
และค่านายหน้านี้ยังต้องบวกภาษีมูลค่าเพิ่มอีก 7% ทำให้เป็นอัตราภาษีรวม 0.27%
ซึ่งถ้าเทียบแล้วก็เป็นเสมือนว่าผู้ซื้อขายหุ้นที่จ่ายค่าต๋งให้นายหน้า
แม้ว่าตั้งแต่ปี
2550 สำนักงาน กลต.
จะเปิดเสรีให้ลดอัตราค่านายหน้าของการซื้อขายหุ้นผ่านอินเตอร์เน็ตลงเหลือ 0.15% กล่าวคือ ลดลงถึงร้อยละ 40 ของอัตราค่านายหน้าที่ซื้อหุ้นขายผ่าน Marketingแต่เมื่อรวมภาษีมูลค่าเพิ่ม 7%
ในการซื้อขายหุ้นผ่านอินเตอร์เน็ตก็ยังต้องจ่ายค่านายหน้าถึง 0.16%
ซึ่งเมื่อเทียบค่าใช้จ่ายในการซื้อขายหุ้นจำนวนมาก ๆ
แล้วก็เป็นตัวเลขสูงที่น่ากลัวพอสมควร อาทิเช่น ในเวลาหนึ่งปีมีวันที่ซื้อขายหุ้นประมาณ
230 วันทำการ และนาย ก. ซึ่งซื้อขายหุ้นทุกวัน โดยเฉลี่ยวันละ 50,000 บาท 1
ปีก็ซื้อขายเป็นเงิน 11,500,000 บาท
(ก) หากต้องเสียค่านายหน้าที่ 0.27% ก็เป็นเงิน
31,050 บาท
(ข) หากต้องเสียค่านายหน้าที่ 0.16% ก็เป็นเงิน
18,400 บาท
ค่านายหน้าข้างต้นคิดที่ครั้งที่ซื้อ
หรือขาย หากคิดทั้งซื้อและขายเป็นสองขา ตัวเลขค่านายหน้าก็จะเป็นสองเท่า คือ
62,100 บาท และ 36,800 บาท ตามลำดับ ลองหลับตาคิดดูว่าหากซื้อขายวันละ 1,000,000
บาท หรือ 20 เท่าของตัวอย่างข้างต้น ค่านายหน้าเพิ่มขึ้นเป็น 621,000 บาท และ
368,000 บาท ตามลำดับ
โดยส่วนตัวเชื่อว่านักเล่นหุ้นทั่ว
ๆ ไป ใช้เงินทั้งซื้อทั้งขายไม่ต่ำกว่าปีละ 10 ล้านบาท เฉลี่ยวันละ 50,000 บาท ค่านายหน้าจึงถือว่ามากโขอยู่ทีเดียว
ทั้งนี้ ยังไม่นับกรณีที่มีผลขาดทุนจากการซื้อขายด้วย โดยส่วนตัวใครที่ซื้อขายหุ้น
10 ตัว ได้กำไร 7 ตัว ขาดทุน 3 ตัว ก็ถือว่าเก่งและโชคดี
เพราะหักกลบกันแล้วยังมีกำไร 3 ตัว คิดเป็น 30% ของการลงทุน อย่าขาดทุน 8 ตัว กำไร
2 ตัวก็แล้วกัน ล้มละลายแน่
มีบริษัทนายหน้าซื้อขายหุ้นรุ่นใหม่ที่ต่างด้าวมาลงทุน เขายอมลดค่านายหน้าเหลือเพียง 0.03-0.08%
กลุ่มนี้เรียกว่า Discount
Broker จึงเป็นที่นิยมของนักเล่นหุ้นจำนวนมาก เพราะลดค่าใช้จ่ายและTransaction Cost ได้
4. ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการดูแลบริษัท เช่น
การจัดทำบัญชี ตรวจสอบ งบดุล ยื่นหน่วยงานต่าง ๆ อย่างต่ำก็ปีละหลายหมื่นบาท บริษัทก็ใช้หักภาษีได้ทั้งหมด
เมื่อสรุปตัวเลขตามที่คำนวณไว้ข้างต้นจะเห็นว่าการซื้อขายหุ้นโดยใช้บริษัทจำกัดอื่น
ๆ จะให้ผลประโยชน์แก่นักลงทุนมากกว่าซื้อขายในชื่อส่วนตัว แต่คนไทยเรามักจะเอาง่ายเข้าว่า
กล่าวคือ ออมเงินแบบหยวน ๆ หากไม่ใช่เป็นเรื่องหนักหนาสากรรจ์จนเกินไป
ยอมใช้เงินซื้อความง่ายและความสะดวก เขาไม่ต้องเก็บหลักฐานการซื้อขายหุ้นทุกครั้ง
เพราะไม่ต้องยื่นรายการตัวเลขในการลงทุนทุกอย่างทำ On-Line และไม่ต้องเสียภาษี จึงยอมที่จะแลกกับรัฐบาลว่าถ้าฉันกำไรรัฐบาลยกเว้นภาษีให้
แต่ถ้าฉันขาดทุน ฉันยอมไม่เอาผลขาดทุนมาหักภาษี
ซึ่งข้อตกลงโดยปริยายลักษณะนี้ถือว่ารัฐบาลเป็นฝ่ายได้เปรียบอยู่แล้วในปัจจุบัน
เพราะคนเรามีโอกาสกำไรขาดทุนจากการซื้อขายหุ้นได้เท่า ๆ กัน ตลาดหลักทรัพย์เปิดดำเนินการมาแล้วราว
35 ปี แต่ดัชนีขึ้นจาก 100 มาอยู่ที่ประมาณ 1,420 คือ ขึ้นมาสิบสี่เท่าตัว
ซึ่งถ้าหากเอาเงิน 100 บาท มาซื้อดัชนีหุ้นก็ได้กำไรเพียงสิบสี่เท่าตัวในราว 35 ปี
เทียบกับราคาทองคำซึ่งขึ้นไป 15 เท่าตัว ในเวลาที่สั้นกว่า
ดังนั้น
การใช้บริษัทกงสีเป็นเครื่องมือในการลงทุนถือทรัพย์สินของวงศ์ตระกูลประเภทที่เป็นหุ้นก็ได้ประโยชน์และเสียภาษีน้อยตามเหตุผลที่กล่าวไว้ข้างต้น
จึงเป็นประเด็นหนึ่งที่ควรพิจารณา
ตอนต่อไปเราจะพบกับวิธีการใช้บริษัทกงสีเป็นผู้ถือทรัพย์สินทางปัญญาเพื่อปกป้องสิทธิอันควรหวงแหนและเป็นการหารายได้พร้อมทั้งลดภาษีไปในตัวด้วย
ขอให้ทุกท่านโชคดีครับ
ดร. สุวรรณ |