ภาษีบริษัทกงสี (ตอนที่ 6)
Tax on Holding Company (Part 6)
โดย
ดร. สุวรรณ วลัยเสถียร
ประธานชมรมคนออมเงิน www.saverclub.org สงวนลิขสิทธิ์
ทรัพย์สินที่มีค่ามากที่สุดของคนเราในปัจจุบันก็คือ
1. ลูกหลาน ซึ่งจะเป็นอนุชนรุ่นต่อไปที่จะเติบโตขึ้นอย่างมีคุณภาพของวงศ์ตระกูลและสังคม
มีความสามารถ เมตตากรุณา โอบอ้อมอารี เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เกื้อกูลต่อคนในครอบครัว
คนรอบข้าง และสังคม
2. ทรัพย์สินทางปัญญา (Intellectual
Property) ไม่ว่าจะเป็น
(ก) ลิขสิทธิ์(Copyright) ซึ่งใช้กับวรรณกรรม บทความต่าง ๆ ที่คนประพันธ์ขึ้น ลิขสิทธิ์เพลง
ภาพยนตร์ และคอมพิวเตอร์ซอฟต์แวร์ต่าง ๆ
(ข) สิทธิบัตร(Patent) เช่น สูตรลับที่ใช้ในการผลิตเวชภัณฑ์ สิ่งประดิษฐ์อันมีค่า เช่น เครื่องยนต์
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสมัยนี้มีการแข่งขันมากในการที่จะคิดค้นแบตเตอรี่เพื่อใช้กับรถยนต์อันเป็นหน่วยพลังงานแทนน้ำมันเชื้อเพลิง
อย่างไรก็ตาม การที่คนเราจะกระโดดก้าวข้ามจากเครื่องยนต์สันดาปภายใน (Internal
Combustion Engine) ไปเป็นรถใช้ไฟฟ้าเลยทีเดียว ผมเห็นว่ายังอาจจะต้องใช้เวลาอีก 5-10 ปี ในช่วงนี้บริษัท นิสสัน
จึงได้คิดเครื่องยนต์ดีเซลประเภทใหม่ซึ่งใช้การสันดาปภายในที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น
ใช้น้ำมันเชื้อเพลิงลดลงไป 20-30% แต่ให้พลังขับเคลื่อน (Torque) ถ้าเครื่องยนต์ดีเซลในปัจจุบัน ซึ่งถ้าหากคิดขึ้นมาได้
และเครื่องยนต์นี้สามารถใช้ได้ในสมณะเชิงพาณิชย์ ก็จะทำให้การใช้น้ำมันลดลง ปล่อยไอเสียออกมาในบรรยากาศน้อยลง
จะเป็นทางเลือกที่ 3 ได้
(ค) เครื่องหมายการค้า (Trademark) ซึ่งแพร่ขยายออกไปเป็นเครื่องหมายบริการ (Servicemark), ชื่อในทางการค้า (Tradename) และค่าความนิยมต่าง ๆ (Goodwill) ของผลิตภัณฑ์หรือของบริการ
โลกปัจจุบันธุรกิจภาคบริการมีขนาดใหญ่กว่าธุรกิจภาคการผลิต ธุรกิจบริการมีอาทิ ธนาคาร โรงเรียน โรงพยาบาล โรงแรม เป็นต้น
ทรัยพ์สินทางปัญญาเหล่านี้มีหลายวงศ์ตระกูลที่จะใช้บริษัทกงสีเป็นHolding
Company เพราะเป็นทรัพย์สินส่วนกลางของครอบครัวที่มีค่ามาก
มีอายุในการใช้นับเป็นร้อยปี และเป็นทรัพย์สินที่ใช้ไม่หมด
คุณลองหลับตานึกว่าบริษัทซอฟต์แวร์แห่งหนึ่งสามารถคิดค้นระบบคอมพิวเตอร์ซอฟต์แวร์ที่ใช้กับอุตสาหกรรม
พาณิชยกรรม หรือแม้แต่ภาคบริการที่ต้องใช้ซอฟต์แวร์อย่างลึกซึ้ง เช่น
โรงพยาบาลต่าง ๆ แล้วนำไปขายในประเทศจีนซึ่งมีประชากรถึง 1,300 ล้านคน ก็นับว่าคิดค้นซอฟต์แวร์ครั้งเดียว
แต่ขายได้นับเป็นสิบหรือเป็นร้อยล้านหน่วยโดยไม่ต้องผลิตซ้ำอย่างสินค้ามีรูปร่างต่าง
ๆ เช่น สินค้าเกษตรหรือสินค้าอุตสาหกรรม และเมื่อขายประเทศจีนแล้วขยายต่อไปประเทศอินเดียซึ่งกำลังพัฒนาตามมาอย่างรวดเร็วและเป็นตลาดใหญ่อีกประเทศหนึ่ง
เพราะมีพลเมืองถึง 1,000 กว่าล้านคน แม้แต่ประเทศสหรัฐอเมริกาซึ่งมีพลเมืองเพียง
330 ล้านคน เมื่อเทียบจำนวนต่อหัวอาจจะน้อยกว่าจีนหรืออินเดียว
แต่กำลังซื้อของประเทศสหรัฐอเมริกานั้นมหาศาล เพราะประชาชนมีรายได้สูง ดังนั้น ในการซื้อคอมพิวเตอร์ซอฟต์แวร์ก็จ่ายราคาได้สูงด้วย
ปัจจุบันบริษัทใหญ่
ๆ ในประเทศสหรัฐอเมริกาจะเป็นภาคบริการแทบทั้งสิ้น เช่น บริษัท Google, บริษัท Microsoft, บริษัท Facebook, บริษัท Amazon, หรือแม้แต่เว็บไซต์ที่ขายสินค้าทางอินเตอร์เนตอย่างแพร่หลาย
อาทิเช่น Alibaba ก็มีขนาดใหญ่โตมากในตลาดหลักทรัพย์ที่ กิจการพวกนี้ไม่มีทรัพย์สินที่เป็นโรงงาน
เครื่องมือ เครื่องจักร อย่างบริษัทผลิตรถยนต์หรือเครื่องบิน แต่มูลค่าของหุ้นสูงกว่าบริษัทที่ใช้เครื่องมือเครื่องจักรในการผลิตสินค้าหลายเท่า
การใช้บริษัทกงสีให้เป็นประโยชน์
เพื่อรวบรวมสินทรัพย์ของวงศ์ตระกูลให้อยู่ในที่เดียวกัน และสามารถจัดตั้งในดินแดนที่ปลอดภาษี(Tax
Free Territories) หรือดินแดนที่เสียภาษีต่ำ (Low Tax
Countries) เพราะการให้สิทธิ (Licensing)แก่ผู้นำเอาทรัพย์สินทางปัญญาไปใช้ ผู้ให้สิทธิแทบจะไม่มีต้นทุนแต่อย่างใด
แต่ได้รับค่าสิทธิ (Royalty) อย่างต่อเนื่อง
ซึ่งค่าสิทธิแบ่งวีการคิดออกได้เป็นหลายส่วน กล่าวคือ
(1) Lump Sum Fee คือ เรียกเก็บเงินเป็นก้อน
เช่น คุณสนใจที่จะใช้เครื่องหมายการค้าของสินค้าแฟชั่นอย่าง Gucci ซึ่งเป็น Brand ที่แพร่หลาย เจ้าของจะบอกว่าปีหนึ่งคิดเหมา
10 ล้านเหรียญสหรัฐ
ไม่ว่าคุณจะนำเอาตราของเขาไปติดไว้กับสินค้าประเภทใดที่เขาอนุมัติ
(2) Running Royalty หรือค่าสิทธิซึ่งคิดตามจำนวนสินค้าหรือบริการที่ขายได้
เช่น คุณนำตราเครื่องหมายการค้าไปติดไว้กับกระเป๋าถือ เขาอาจจะคิดใบละ 1,000
เหรียญสหรัฐ ถ้าติดไว้กับกระเป๋า 1,000 ใบ เจ้าของก็จะคิดค่าการใช้สิทธิตามจำนวน
คือ 1,000 x 1,000 เท่ากับ 1 ล้านเหรียญสหรัฐ
ซึ่งเขาจะเรียกเก็บไปเรื่อย ๆ จนกว่าคุณจะเลิกใช้เครื่องหมายการค้าของเขา
(3) เรียกเก็บทั้ง 2 วิธีผสมกัน
เมื่อบริษัทกงสีซึ่งเป็นเจ้าของทรัพย์สินทางปัญญามีรายได้ค่าสิทธิจำนวนมาก
ก็ต้องหาวิธีที่เสียภาษีให้น้อย เพราะมีต้นทุนต่ำ ดังนั้น
ถ้าบริษัทผู้รับสิทธิตั้งอยู่ในดินแดนที่ปลอดภาษี หรือดินแดนที่เสียภาษีน้อย
บริษัทกงสีเหล่านี้ก็จะมีกำไรหลังหักภาษีแล้วจำนวนสูงมาก
อย่างไรก็ตาม
แม้ในดินแดนที่บริษัทกงสีตั้งอยู่จะเก็บภาษีอัตราต่ำ
แต่เงินค่าสิทธิซึ่งจ่ายมาจากต่างประเทศ
ซึ่งรัฐบาลของประเทศผู้จ่ายเงินก็พยายามที่จะหาประโยชน์จากกำไรหรือรายรับของบริษัทกงสีที่เป็นเจ้าของทรัพย์สินทางปัญญา
จึงมีมาตรการบังคับให้ผู้จ่ายต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย
ซึ่งอัตราภาษีก็แตกต่างกันไปตามประเภทของทรัพย์สินทางปัญญา
ถ้าพิจารณาถึงอนุสัญญาเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อน หรือเรียกง่าย ๆ ว่า Double Tax Agreement
(DTA) อัตราภาษีสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ขั้น คือ 5%, 10% และ 15%
รายละเอียดของอัตราภาษีที่ใช้กับทรัพย์สินทางปัญญาแต่ละประเภท
เราจะนำไปกล่าวในตอนต่อไปครับ
ขอให้ทุกท่านโชคดีครับ
ดร. สุวรรณ |