ภาษีบริษัทกงสี (ตอนที่ 8)
Tax on Holding Company (Part 8)
โดย
ดร. สุวรรณ วลัยเสถียร
ประธานชมรมคนออมเงิน www.saverclub.org สงวนลิขสิทธิ์
เราได้เขียนถึงประโยชน์ของการจัดตั้งบริษัทกงสีเพื่อเป็นที่รวบรวมสินทรัพย์ของวงศ์ตระกูลให้อยู่ในที่เดียวกัน
ทั้งนี้ เพื่อการบริหารจัดการการลงทุนหาประโยชน์และการแบ่งสรรผลได้ให้แก่ลูก ๆ
หลาน ๆ ในวงศ์ตระกูล ในสมัยนี้ผมจะเน้นเรื่องของทรัพย์สินทางปัญญามาก และเนื่องจากเป็นเรื่องที่ค่อนข้างใหม่ในประเทศไทย
เราควรไปศึกษาว่าในต่างประเทศเมื่อมีการคิดค้น พัฒนา หรือประดิษฐ์นวัตกรรมใหม่ ๆ
อันเป็นทรัพย์สินทางปัญญา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของคอมพิวเตอร์ซอฟท์แวร์
ลิขสิทธิ์ในภาพยนตร์ ในเพลง สูตรในการคิดหาหรือผลิตยา หรือผลิตภัณฑ์ทางอุตสาหกรรมและพาณิชยกรรมต่างๆ
รวมทั้งค่าความนิยม ไม่ว่าจะเป็นเครื่องหมายการค้า (Trademark), เครื่องหมายบริการ (Servicemark), ค่าความนิยม (Goodwill) และชื่อในทางการค้า (Tradename)
ซึ่งผู้คิดค้นจะสามารถหาประโยชน์ได้จากทรัพย์สินทางปัญญาเหล่านี้เป็นเวลานับสิบหรือร้อยปีหากว่าได้มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องและหาวิธีคุ้มครองไม่ให้ผู้ใดมาลอกเลียนแบบหรือละเมิดสิทธิ
เมื่อมีสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาแล้ว
หลาย ๆ วงศ์ตระกูลก็จะตั้งบริษัทต่างประเทศ (Offshore Company)
เพื่อถือกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินเหล่านี้ ซึ่งในตอนที่ผ่าน ๆ มา เราได้ระบุว่า
โอกาสที่จะลดภาษีของบริษัทในต่างประเทศจะมีมากเลยทีเดียว
และนอกจากในเรื่องของการประหยัดภาษีแล้ว
การตั้งบริษัทกงสีในต่างประเทศยังให้ความคล่องตัวในสมนะเชิงพาณิชย์ กล่าวคือ
ทรัพย์สินทางปัญญาบางเรื่องเป็นกรณีที่รัฐบาลหลายประเทศมีการควบคุมและหวงแหนมิให้บุคคลในชาตินำไปเผยแพร่หรือให้สิทธิ
(Licensing) แก่บางประเทศที่ถือว่าเป็นคู่แข่ง หรือไม่เป็นมิตร
หรืออยู่ในภาวะที่ถูกปิดกั้นทางการเมืองหรือการทหาร (Political and
Military Blockade) หรือแม้แต่ทางเศรษฐกิจ (Economic
Sanction) เพราะความรู้ความสามารถในทางปัญญาในทางเคมีบางประเภทบางประเภทอาจใช้ในการผลิตอาวุธยุทธภัณฑ์
เคมีภัณฑ์ หรืออาวุธทางชีวภาพ (Chemical and Biological Weapon) หรือมิฉะนั้นก็นำไปผลิตอาวุธที่มีอำนาจในการทำลายล้างขนาดใหญ่ (Weapon
for Mass Destruction)
ในอีกกรณีหนึ่ง
ทรัพย์สินทางปัญญาในทางพานิชณ์ที่ให้บริษัทต่างประเทศถือไว้แม้จะไม่ค่อยเป็นที่หวงแหน
แต่ถ้าเอามาเก็บไว้ในบริษัทของประเทศตนเอง
ก็อาจจะอยู่ในดินแดนที่ถูกนานาชาติเพ่งเล็ง ไม่อยากติดต่อด้วย
เนื่องจากขณะนี้ในด้านของสหประชาชาติก็ดี เช่น
ในบางประเทศที่ไม่ปฏิบัติตามกฎของนานาชาติ หรืออยู่ในดินแดนที่มีการขัดแย้ง
รบพุ่งกัน การที่บริษัทในดินแดนเหล่านั้นจะไปติดต่อค้าขายกับต่างประเทศ
ย่อมไม่ได้รับความสะดวก เพราะถูกกีดกันในทางการเงิน คือ
ธนาคารหรือสถาบันการเงินจะไม่ติดต่อด้วย ทำให้การโอนชำระเงินค่าสิทธิทำได้ยาก
หรืออาจจะทำไม่ได้เลย
การลงทุนทำมาค้าขายแทบทุกคนมุ่งค้าหากำไร
และเมื่อได้กำไร หรือแม้แต่มียอดขายก็ต้องเสียภาษี
การเสียภาษีน้อยดีกว่าเสียภาษีมาก การเสียภาษีช้า (Deferred Tax)
ดีกว่าเสียภาษีเร็ว เพราะในด้านการเงิน Money Today is Better Than Money
Tomorrow กล่าวคือ ได้เงินวันนี้ดีกว่าได้พรุ่งนี้
นอกจากนี้ในหลายประเทศยังมีกฎหมายที่ปกป้องทรัพย์สินทางปัญญาที่เข้มกว่าของประเทศที่มีฐานะทางเศรษฐกิจจัดเป็นพวกตลาดเกิดใหม่
(Emerging
Market)
การตั้งบริษัทกงสีเพื่อถือทรัพย์สินทางปัญญาในดินแดนที่มีกฎหมายคุ้มครองที่เข้มงวดย่อมปกป้องคุณค่าของทรัพย์สินทางปัญญาได้ผลดีกว่า
ในตอนหน้าเราจะกล่าวถึงการปกป้องและรักษาความลับของทรัพย์สินทางปัญญาในทางภาษีให้ลึกซึ้ง
รวมทั้งเรื่องGoogle Venture Capital ด้วย
ขอให้ทุกท่านโชคดีครับ
ดร. สุวรรณ |