ภาษีบริษัทกงสี (ตอนที่ 9)
Tax on Holding Company (Part 9)
โดย
ดร. สุวรรณ วลัยเสถียร
ประธานชมรมคนออมเงิน www.saverclub.org สงวนลิขสิทธิ์
หลักการสำคัญ ๆ ที่จัดตั้งบริษัทกงสีในต่างประเทศเพื่อถือกรรมสิทธิ์ของทรัพย์สินทางปัญญาไม่ว่าจะเป็นลิขสิทธิ์
สิทธิบัตร หรือเครื่องหมายการค้า เครื่องหมายบริการต่าง ๆ ก็มีดังนี้
1. รักษาความลับของความเป็นเจ้าของทรัพย์สินทางปัญญาเหล่านั้น ทำให้บุคคลภายนอกไม่ทราบว่าใครคือเจ้าของที่แท้จริง หลายวงศ์ตระกูลมีทรัพย์สินอยู่มากกระจัดกระจายทั่วไป
และไม่อยากจะโพนทนาให้ชาวบ้านทราบว่าเขาเป็นเจ้าของอะไรบ้าง เนื่องจากรู้ว่าใครคือคู่แข่ง
มีความอิจฉาริษยา หรืออาจจะมุ่งประสงค์ในทางที่ไม่ค่อยเป็นมิตรต่อวงศ์ตระกูลของเขา การรักษาความลับไว้ย่อมทำให้ตระกูลนั้นสามารถถือเอาประโยชน์จากทรัพย์สินทางปัญญาชิ้นนั้นได้คล่องตัวกว่า
2. เพื่อปกป้องทรัพย์สินทางปัญญาเพราะในบางประเทศซึ่งเจ้าของมีถิ่นที่พำนักอาศัยอยู่อาจจะมีกฎหมายคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาที่ไม่ทันสมัยหรือไม่มีความเข้มงวดเพียงพอ
แต่ดินแดนบางแห่งซึ่งเขาตั้งบริษัทกงสีไว้เพื่อถือกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินทางปัญญามีกฎหมายคุ้มครองที่ลึกซึ้งกว่า
โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าดินแดนนั้นถือตามกฎหมายของประเทศตะวันตกบางแห่งที่มีการพัฒนาไปก้าวไกลมาก
การคุ้มครองย่อมได้ผลดีกว่า
3. เพื่อประโยชน์ในทางภาษี
เพราะทรัพย์สินทางปัญญาหากใช้เองในการผลิตสินค้าหรือให้บริการก็จะขายผลิตภัณฑ์ได้มีกำไร
และสามารถครองตลาดได้ บางผลิตภัณฑ์ เช่น ยารักษาโรค ถึงกับมีอำนาจเหนือตลาด หรือหากจะให้สิทธิ (Licensing) แก่บุคคลอื่น ย่อมจะได้รับค่าสิทธิ (Royalty) อันเป็นการรับเงินประเภทที่ไม่รู้จักหมด
ยกตัวอย่างถ้าคุณผลิตภัณฑ์สินค้าชิ้นหนึ่งเมื่อขายไปแล้วหากจะขายชิ้นที่สองคุณก็ต้องผลิตขึ้นมาใหม่
แต่ถ้าคุณเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์คอมพิวเตอร์ซอฟท์แวร์ชิ้นหนึ่งซึ่งมีคนมาขอรับสิทธิเอาไปใช้
คุณสามารถให้สิทธิได้โดยไม่จำกัด ไม่ต้องผลิตใหม่อยู่เรื่อย ๆ
เพราะว่าถ้ามีผู้สนใจรายอื่น ๆ มาขอใช้สิทธิอีก
คุณก็ให้แก่รายที่สองหรือรายที่สามไปได้ ตัวอย่างง่าย ๆ ก็คือ
มีผู้คิดค้นผลิตซอฟท์แวร์ที่ใช้กับโรงพยาบาลและคุณลองหลับตานึกดูว่าในประเทศใหญ่ ๆ
ที่มีบุคคลอาศัยเป็นจำนวนมาก เช่น จีน หรืออินเดีย จะมีโรงพยาบาลนับหมื่นแห่ง ซึ่งถ้าแต่ละโรงพยาบาลมาขอใช้สิทธิซอฟท์แวร์ของคุณ
คุณก็สามารถที่จะให้สิทธิได้ถึงหมื่นครั้งโดยไม่ต้องคิดค้นหรือผลิตซอฟท์แวร์ขึ้นมาใหม่
แม้กระนั้นก็ดี การที่จะให้ซอฟท์แวร์ของคุณทันสมัยและชนะคู่แข่งได้
คุณก็จะต้องพัฒนาต่อยอดซอฟท์แวร์ของคุณไปเรื่อย ๆ
มิฉะนั้นผ่านไปไม่กี่ปีซอฟท์แวร์ของคุณจะล้าสมัย และคู่แข่งมีซอฟท์แวร์ที่ทำงานได้เร็วกว่าและดีกว่าของคุณ
การใช้ประโยชน์ในซอฟท์แวร์หรือทรัพย์สินทางปัญญาอย่างอื่น
นอกจากวิธีการให้สิทธิแล้ว ยังมีผู้สนใจบางรายขอซื้อลิขสิทธิ์ไปเลยก็ได้ ซึ่งถ้าเจ้าของบริษัทกงสีที่ถือกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินทางปัญญาเหล่านั้นเห็นว่าควรที่จะขายเพื่อรับเงินก้อนใหญ่
แทนที่จะให้สิทธิรับเงินเป็นงวด ๆ ไปเรื่อย ๆ
ก็สามารถขายซอฟท์แวร์เหล่านั้นได้สองวิธี กล่าวคือ
(ก) ขายตัวทรัพย์สินทางปัญญาออกไปโดยตรง เช่น
ถ้าเป็นคอมพิวเตอร์ก็จะสามารถที่จะโอนขายพร้อม source code ให้แก่ผู้ซื้อ
หรือถ้าเป็นสูตรในการผลิตสินค้าก็สามารถโอนกรรมสิทธิ์ของสูตรลับเหล่านั้นให้แก่ผู้ซื้อได้
หากเป็นการขายจากบริษัทที่ตั้งอยู่ในประเทศหรือดินแดนที่ไม่เสียภาษี (Tax
Free Territory) รายได้หรือกำไรจากการขายเหล่านั้นก็ยกเว้นภาษี
บางดินแดนอาจเป็นภาษีในอัตราต่ำกว่าประเทศที่เจ้าของมีภูมิลำเนาอยู่
ทำให้จำนวนภาษีลดลงได้มาก
(ข) การขายอีกวิธีหนึ่ง คือ
ขายบริษัทที่ถือกรรมสิทธิ์ซอฟท์แวร์ไปโดยตรง
เพราะผู้ใดก็ตามที่เป็นของหรือผู้ถือกรรมสิทธิ์ในหุ้นทั้งหมดของบริษัทซึ่งเป็นเจ้าของทรัพย์สินทางปัญญาเหล่านั้น
บุคคลคนนั้นก็จะเป็นเจ้าของตัวทรัพย์สินไปด้วย คือ
เป็นการถือกรรมสิทธิ์ในตัวทรัพย์สินผ่านบริษัทที่เป็นเจ้าของ (Holding Company) นั่นเอง
ในสมัยนี้มีหลายคนซึ่งไปประมูลซื้อภาพวาดราคาแพงจากศิลปินชื่อก้องโลก
เช่น ภาพของ Van
Gogh หรือ Picasso หรือ Monet ผู้ซื้ออาจไม่ประสงค์ที่จะซื้อในชื่อของตนเอง
เพราะเกรงว่าคนทั่วไปจะรู้ว่าใครเป็นเจ้าของภาพวาดนั้น จึงมักจะซื้อในนามของ Holding
Company เพื่อรักษาข้อมูล ไม่ต้องเปิดเผยชื่อของเจ้าของผู้ซื้อ
และในเวลาที่จะขาย แทนที่จะขายภาพวาดไปก็จะขายบริษัทที่เป็นเจ้าของภาพวาดไปแทน
วิธีนี้มีใช้อยู่แล้วในปัจจุบันอย่างแพร่หลายของผู้ลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งซื้อที่ดินเป็นแปลง ๆ
มาเพื่อลงทุนระยะยาว หรือเพื่อขายเก็งกำไร (Land Speculation) เนื่องจากการโอนขายที่ดินในประเทศไทยเราต้องเสียค่าธรรมเนียม
ค่าภาษีค่อนข้างแพง ดังนี้
(1) ค่าธรรมเนียมการโอน ปกติคิดจากราคาประเมินของอสังหาริมทรัพย์ที่
2%
(2) ค่าภาษีธุรกิจเฉพาะ 3.3% ของราคาที่โอน
แม้ว่าจะสูงกว่าราคาประเมินก็ตาม ซึ่งหากผู้โอนเป็นนิติบุคคล เช่น บริษัทจำกัด
หรือห้างหุ้นส่วน หรือแม้แต่มูลนิธิก็ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ ส่วนบุคคลธรรมดาจะต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะถ้าเป็นกรณีที่ซื้อขายเพื่อทำกำไร
โดยกฎหมายถือว่า กรณีบุคคลธรรมดาที่ถือกรรมสิทธิ์ มีชื่อในโฉนดที่ดิน
หรือหนังสือแสดงกรรมสิทธิ์ความเป็นเจ้าของของอสังหาริมทรัพย์มาไม่เกินกว่า 5 ปี ก็ต้องเสียภาษีนี้
แต่หากถือไว้เกิน 5 ปี ก็จะได้รับยกเว้น ไม่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ 3.3%
(3) อากรแสตมป์ 0.5% ถ้าผู้โอนได้รับยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะ
แต่หากต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ 3.3% ก็ไม่ต้องเสียอากรแสตม์ 0.5%
(4) ภาษีหัก ณ ที่จ่าย
ซึ่งถ้าผู้โอนขายเป็นบริษัทนิติบุคคล ก็จะถูกหักภาษี 1% แต่ถ้าผู้ขายเป็นบุคคลธรรดา
ก็จะถูกหักในอัตราก้าวหน้าตั่แงต่ 5-35% โดยอาจจะได้รับการลดหย่อนบ้าง
ตามพระราชกฤษฎีกา
บุคคลธรรมดาที่โอนขายอสังหาริมทรัพย์ต้องเสียภาษีแทบทุกกรณีโดยใช้วิธีหักภาษี ณ
ที่จ่าย เมื่อไปโอนโฉนดที่ดิน ณ กรมที่ดิน
ในทางตรงกันข้าม
หากอสังหาริมทรัพย์ถืออยู่ในชื่อของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วน
การขายก็ทำได้ในรูปของการขายหุ้นของบริษัทหรือหุ้นส่วนของห้างหุ้นส่วนนั้นทั้งหมด
โดยไม่ต้องไปเสียเวลาในการโอนกรรมสิทธิ์โฉนดที่กรมที่ดินแต่อย่างใด ทั้งนี้ เพราะผู้ใดก็ตามที่เป็นเจ้าของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วน
ซึ่งถือกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ย่อมเป็นเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ชิ้นนั้นไปโดยทางอ้อมด้วย
ภาษีการโอนขายก็ไม่ต้องเสียภาษี
แต่ผู้ขายต้องเสียภาษีจากกำไรการขายหุ้นหรือโอนหุ้นส่วน
ข้อสรุป
ประโยชน์ของการตั้งบริษัทกงสีทั้งในราชอาณาจักรและนอกราชอาณาจักรย่อมมีในกรณีต่าง
ๆ ตามที่ได้กล่าวไว้ในบทความนี้ ในบทความฉบับหน้าเราจะได้เขียนถึงภาษีกับความมั่งคั่ง (Tax and Wealth) ว่า สองเรื่องนี้มีความสัมพันธ์เหมือนกันหรือต่างกันประการใด
เพราะคนทั่วไปมักจะเข้าใจว่าหากมีความมั่งคั่ง คือ
มีทรัพย์สินมากก็จะต้องเสียภาษีมาก แต่ในชีวิตจริงแล้ว เป็นคนละเรื่องกัน
เพราะคนที่มีความมั่งคั่งหรือมีทรัพย์สินมากอาจจะเสียภาษีน้อย
หรือไม่ต้องเสียภาษีเลยก็ได้ ฉบับหน้าเราจะดูรายละเอียดกันต่อไป
ขอให้ทุกท่านโชคดีครับ
ดร. สุวรรณ
|