23 พฤษภาคม 2554
หนทางสู่ความมั่งคั่ง– ตอน 2
โดย
ดร. สุวรรณ วลัยเสถียร
ประธานชมรมคนออมเงิน
www.saverclub.org
สงวนลิขสิทธิ์

ในตอนที่แล้วเราได้กล่าวถึงการเดินบนทางสู่ความมั่งคั่งซึ่งเป็นหนทางอันยาวและคดเคี้ยว มีทั้งอุปสรรค์และตัวช่วยซึ่งกว่าที่เราจะมีเงินออมเพียงพอสำหรับการเกษียณอายุและดูแลครอบครัวก็ต้องใช้เวลานาน 10, 20 หรือ 30 ปี หลักการสำคัญที่สุดคือ ต้องมีวินัย และเมื่อวางแผนประการใดแล้ว แม้ลำบากก็ต้องอดทนทำตามแผน อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์ในปัจจุบันมีความผันผวน ดังนั้น ระหว่างที่เราเดินทางไปสู่ความมั่งคั่ง ก็ต้องคอยปรับแผนให้เข้ากับสถานการณ์ สภาพเศรษฐกิจ และอายุด้วย
วงจรเศรษฐกิจมีทั้งขาขึ้นและขาลง แบ่งประเด็นสั้น ๆ ได้ดังนี้
1. ในภาวะที่เศรษฐกิจเฟื่องฟู สิ่งที่น่าลงทุนคือ หุ้น, หลักทรัพย์ และอสังหาริมทรัพย์ เพราะคุณจะได้ทั้งผลตอบแทนในลักษณะของเงินปันผล และค่าเช่า โดยในช่วงนี้อัตราดอกเบี้ยจะไม่สูงนัก
2. เมื่อเศรษฐกิจเฟื่องฟูนานเข้า ๆ ความโลภของมนุษย์จะทำให้เรามองตลาดหุ้นและตลาดอสังหาริมทรัพย์ในลักษณะที่ดีเกินคาด จึงมีแรงซื้อมากเกินไป (Over Bought)ซึ่งในสภาพเช่นนี้จะทำให้เกิดภาวะฟองสบู่ และเงินเฟ้อก็จะสูงตาม ดังนั้น รัฐบาลจึงต้องขึ้นดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ
3. เมื่อเศรษฐกิจเฟื่องฟูจนถึงจุดสุดยอด นักลงทุนไม่สามารถสร้างราคาหุ้นหรือพยุงราคาอสังหาริมทรัพย์ให้สูงต่อไปได้ ก็จะมีคนเทขายเพื่อทำกำไร ในช่วงนั้นราคาหุ้นก็จะอ่อนลงเพราะมีแรงขาย ส่วนอสังหาริมทรัพย์ก็มีผู้เก็งกำไรมากจนเกินไป ถ้าสู้ภาระดอกเบี้ยไม่ได้ก็จะเริ่มถูกเจ้าหนี้ยึด ดังนั้น ในภาวะนี้ไม่มีอะไรดีกว่าการลงทุนอย่างระมัดระวัง คือ ตราสารหนี้ ไม่ว่าจะเป็นพันธบัตร หุ้นกู้ หรือตั๋วเงิน เพราะแม้จะได้ดอกเบี้ยน้อยแต่ก็เป็นการลงทุนมีความเสี่ยงต่ำ
4. สินค้าโภคภัณฑ์เริ่มเข้ามามีบทบาทในชีวิตของคนไทยเรา มีการจัดตั้งตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้า (AFET)เมื่อประมาณ 10 ปีที่แล้ว เพื่อซื้อขายข้าว ยาง และแป้งมันสำปะหลังล่วงหน้า ต่อมาตลาดหลักทรัพย์ก็จัดตั้งตลาดอนุพันธ์เรียกว่า Thailand Futures ExchangeหรือTFEXเข้ามาค้าตราสารอนุพันธ์เกี่ยวกับหุ้น (Stock Derivatives)และทองล่วงหน้า (Gold Futures) โดยในวันที่ 20 มิถุนายน 2554 TFEXจะเปิดซื้อขายเงินล่วงหน้า (Silver Futures)อีกด้วย
ดังนั้น ถ้าเราวางแผนให้ดีและใช้เครื่องมือการลงทุน (Investment Tools)ที่เหมาะสมมุ่งเน้นตามความชำนาญและความถนัดของเรา โอกาสที่เราจะเดินทางลัด (Shot Cut)ไปสู่ความมั่งคั่งก็มีมากขึ้น ทั้งนี้และทั้งนั้นอย่าลืมว่าการลงทุนอะไรก็ตามที่จะให้ผลตอบแทนสูง ความเสี่ยงย่อมสูงตามไปด้วย (High Risk High Return)
เราต้องระลึกว่าไม่มีการลงทุนใดที่ให้ผลตอบแทนสูง แต่ความเสี่ยงต่ำ ความเสี่ยงก็เสมือนเป็นเงาของการลงทุนซึ่งจะตามติดไปโดยที่คุณไม่สามารถสลัดทิ้งได้ แม้แต่การลงทุนซึ่งนับว่าค่อนข้างเสี่ยงน้อย เช่น ทองคำแท่ง ก็ยังมีความเสี่ยง เช่น คุณต้องหาที่เก็บอันปลอดภัย ผมคิดว่าเช่าตู้นิรภัยของธนาคารจะดีที่สุด เพราะค่าเช่าตู้หนึ่งเพียงไม่กี่ร้อยหรือพันบาทต่อปี เก็บทองคำแท่งได้เป็นจำนวนมาก อย่าไปกลัวว่าจะมีการสูญหายจากตู้นิรภัยของคุณ สมาชิกชมรมคนออมเงินหลายคนเช่าตู้นิรภัยของธนาคารนับสิบปีไม่ประสบปัญหาประการใด
ในตอนที่แล้วผมได้ลำดับหัวข้อในการเดินทางสู่ความมั่งคั่ง 3 ข้อ คือ
(1) หมั่นดูแล ตรวจร่างกายของคุณเป็นประจำ
(2) ต้องเริ่มเก็บออมตั้งแต่บัดนี้
(3) ดูแลทรัพย์สินให้อยู่ในสภาพดี
นอกเหนือจากสามข้อข้างต้น คุณต้องพิจารณาประเด็นอื่นดังต่อไปนี้
(4) ซื้อประกันชีวิตสำหรับตัวคุณหรือครอบครัว แม้บางคนโสด ไม่มีภาระต้องดูแลใคร แต่คนโสดหลาย ๆ คนก็เป็นลูกกตัญญู ดูแลคุณพ่อคุณแม่ หรือเป็นพี่ใหญ่ที่จะอุปการะน้อง ๆ ดังนั้น หากตัวเองเป็นอะไรไป ในฐานะที่เป็นผู้หาเงินเข้าบ้าน (Bread Winner)ร่มโพธิ์ร่มไทรที่ให้กับผู้ที่อยู่ใกล้ชิดอาจหักโค่นไป จึงควรพิจารณาซื้อประกันชีวิตเอาไว้บ้าง
โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่มีครอบครัว มีภรรยา สามี หรือลูก ๆ ซึ่งคนเรากว่าจะตั้งตัว มีเงินเป็นกอบเป็นกำ ผ่อนบ้าน ผ่อนรถจนหมด ก็ต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 20 ปี ดังนั้น เพื่อขจัดความไม่แน่นอนในระหว่าง 20 ปีนั้น การซื้อประกันชีวิตเป็นการสร้างหลักประกันให้กับครอบครัวในระยะเวลาอันสั้น
นอกจากนี้รัฐบาลไทยยังส่งเสริมให้คนไทยซื้อประกันชีวิตเพื่อใช้หักภาษีได้ปีละ 100,000 บาท โดยคุณจะต้องซื้อจากบริษัทที่ประกอบกิจการในประเทศไทย และอายุกรมธรรม์ต้องไม่ต่ำกว่า 10 ปี ซึ่งรวมทั้งการประกันแบบตลอดชีวิต (Whole Life)
ประเด็นสุดท้ายเกี่ยวกับการประกันชีวิตก็คือ ควรซื้อในวงเงินเท่าใด ผู้สันทัดกรณีให้ความเห็นว่าควรซื้อเท่ากับรายจ่ายของตัวคุณเองและครอบครัวเป็นเวลา 5 ปี ยกตัวอย่าง
ครอบครัวต้องใช้เงินเดือนละ 50,000 บาท
1 ปี เท่ากับ 600,000 บาท
ค่าใช้จ่าย 5 ปี เท่ากับ 3,000,000 บาท
โดยคุณสามารถเลือกซื้อแบบยาว สั้น ผ่อนมาก หรือน้อยตามกำลังเงินของตัวคุณเอง ทั้งนี้จะต้องระลึกว่าการซื้อประกันชีวิตเป็นการสร้างภาระระยะยาว ซึ่งถ้าหากคุณต้องการซื้อวงเงินประกันสูง ต้องผ่อนรายเดือนหรือรายปีจำนวนมาก แล้วจ่ายไปนาน ๆ จะไหวไหม? หากจะต้องมีการยกเลิกหรือเวนคืนกรมธรรม์ในปีแรก ๆ คุณแทบจะไม่ได้รับเงินคืนเลย เพราะเบี้ยประกันที่จ่ายไปใช้เป็นค่าคุ้มครองความเสี่ยง ค่านายหน้าตัวแทน ซึ่งในปีแรกเขารับไปถึง 40%ของเบี้ยประกัน รวมทั้งค่าบริหารจัดการของบริษัทผู้รับประกันชีวิต จึงควรพิจารณาซื้อตามกำลังของคุณให้รอบคอบ
จุดแข็งประการหนึ่งของการซื้อประกันชีวิตคือ ทุกกรมธรรม์ทุกฉบับจะมีเงินออมให้คุณอยู่ด้วย แต่ต้องระวังว่าเป็นการออมเงินที่ต้นทุนสูงมาก เพราะทุกหนึ่งบาทที่คุณจ่ายเป็นค่าเบี้ยประกัน คุณจะได้เงินออมเพียง 54 สตางค์ อีก 46 สตางค์ จ่ายเพื่อแลกกับค่าคุ้มครองความเสี่ยงและบริการของตัวแทนประกันชีวิต ซึ่งต่างกับกรณีที่คุณสามารถออมเงินเองได้ เอาเงินฝากธนาคารไว้ 100 บาท หรือซื้อกองทุนไม่ว่าจะเป็นกองทุนหุ้นระยะยาว (Long Term Equity Fundหรือ LTF)หรือกองทุนเพื่อการเลี้ยงชีพ (Retirement Mutual Fundหรือ RMF)คุณจะได้มูลค่าเงินฝากหรือหน่วยลงทุนครบ 100 บาท เต็มตามที่คุณลงทุนไว้ ซึ่งกองทุนทั้งสองประเภทนี้ก็หักภาษีได้เช่นกัน และยังหักได้มากกว่าประกันชีวิตอีกด้วย คือ หักได้ถึงปีละ 500,000 บาทต่อกอง
(5) คำนึงถึงเวลาเกษียณอายุ เรื่องนี้ขึ้นอยู่กับคนออมเงินแต่ละคนซึ่งไม่เหมือนกัน บางคนวางแผนเกษียณอายุตั้งแต่เริ่มทำงาน สมมติว่าจบปริญญาตรีอายุ 22 ก็คำนวณว่าหากทำงานต่อไปอีก 40 ปี แล้วเกษียณเอาตอนอายุ 62 ปี ก็จะมีเวลาออมและวางแผนลงทุนยาวนานถึง 40 ปี ดังนั้น แม้จะเก็บออมปีหนึ่งไม่มากนัก แต่เนื่องจากมีเวลายาวนาน และถ้าสามารถทำได้อย่างสม่ำเสมอ คุณก็จะบรรลุถึงจุดมุ่งหมายของการมีเงินก้อนใหญ่ ไม่ว่าจะเป็น 5 ล้าน หรือ 10 ล้านบาท หรือบางคนอาจจะมีถึง 100 ล้านบาท เมื่อเกษียณอายุก็ได้
ในทางตรงกันข้าม บางคนมักจะตามใจตัวเอง หรือมิฉะนั้นก็ขาดความรู้เกี่ยวกับการบริหารเงิน จึงไม่คิดถึงวันเกษียณ บางคนมีรสนิยมสูง ชอบใช้ของ Brandnameชอบสร้างหนี้สิน มีบัตรเครดิตถึง 8 ใบ วงจรชีวิตจึงอยู่กับเงินผ่อนมาตลอด กว่าจะรู้ตัวก็อายุ 50 ปีเข้าไปแล้ว ถึงตอนนั้นเหลือเวลาอีกเพียง 10 ปีก็จะเกษียณ หากผ่อนหนี้จนหมดแล้ว คือ ไม่มีทั้งหนี้บ้าน หนี้รถยนต์ และหนี้บัตรเครดิต หรือหนี้นอกระบบ การเก็บออมเงิน 10 ปี ก็ยังถือว่าคุณมีโอกาสค่อนข้างดี แต่ต้องเร่งมือ เพราะมิฉะนั้นตอนเกษียณคุณจะเหลือเงินไม่พอ
ในสายตาของผมคนที่เก็บออมเงินเอาอายุขณะ 50 ปี ต้องมีเงินออมอย่างน้อยเดือนละ 30,000 บาท ปีหนึ่งได้ 360,000 บาท 5 ปีเท่ากับ 1,800,000 บาท ในระหว่างนั้นหากลงทุนประเภทที่ได้ผลตอบแทนค่อนข้างดี เช่น กองทุนอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งปกติให้เงินปันผลประมาณ 7-9%คิดแบบดอกเบี้ยทบต้นแล้วคุณน่าจะมีเงินประมาณ 3 ล้านบาท
ภายหลังเกษียณก็เอาเงิน 3 ล้านบาท ลงทุนกับกองทุนอสังหาริมทรัพย์ต่อไป สมมติว่าได้ผลตอบแทน 9%ปีหนึ่งก็ 270,000 บาท ซึ่งผมเห็นว่าค่อนข้างพอเพียง แม้จะไม่มากนัก
อย่างไรก็ตาม ผมส่งเสริมให้คนเรามีเงินออมให้มากที่สุดก่อนเกษียณอายุ เพราะถ้าหากเงิน 3 ล้านบาทข้างต้นไม่พอ คุณก็ต้องใช้ทั้เงสินต้นและดอกเบี้ย ถ้าคุณมีบ้าน มีรถยนต์ ซึ่งถือว่าเป็นทรัพย์สินที่สามารถใช้จ่ายได้เหมือนกัน ในเวลาจนมุมจริง ๆ คุณก็อาจจะต้องขายบ้านแล้วเอาเงินไปลงทุนหาดอกผลมาใช้จ่ายรวมทั้งเป็นค่าเช่า ซึ่งหมายความว่า ตอนที่เสียชีวิตก็จะไม่มีสมบัติหรือมรดกตกทอดให้ลูกหลาน
กล่าวโดยสรุป เราควรจะคิดถึงการเกษียณอายุอย่างช้าตั้งแต่ยังอยู่ในวัยกลางคน คือ อายุ 35 ปีขึ้นไป เพื่อว่าจะได้มีเวลาออมอย่างน้อย 25 ปี สำหรับยามแก่ชรา ถ้าหากว่าอายุถึง 60 ปีแล้ว เงินที่เก็บไว้ก็ยังไม่เพียงพอ คุณมีทางเยียวยาประการใดบ้าง ผมแนะ 2 วิธี
1. เกษียณอายุให้ช้าลง เช่น แทนที่จะออกจากงานตั้งแต่อายุ 60 ปี ก็ทำงานต่อไปอีก 5 ปี ซึ่งจากการคำนวณของบางสถาบันการเงิน การเกษียณอายุที่ 65 ปี คุณจะมีเงินพอให้ตัวเองได้เพิ่มขึ้นอีกประมาณ 50%เช่น ถ้าคุณเกษียณที่ 60 ปี และมีเงินบำเหน็จบำนาญหรือเงินออมพอใช้จ่ายได้เดือนละ 20,000 บาท หากทำงานต่อไปอีก 5 ปีแล้วเกษียณเอาตอน 65 ปี เงินบำเหน็จบำนาญดังกล่าวจะเพิ่มขึ้นไปจนถึงเดือนละ 30,000 บาท
2. หางานอื่นทำภายหลังเกษียณ แต่ต้องระวังว่าเป็นการทำงานโดยใช้แรง อย่าเอาเงินไปลงทุนเป็นอันขาด เพราะถ้าเอาเงินก้อนสุดท้ายที่ได้ตอนเกษียณอายุไปลงทุนค้าขาย หรือทำกิจการประการใด หากเกิดพลิกผัน กิจการมีอันต้องล้มเลิก ขาดทุน เงินก้อนสุดท้ายก็จะระเหยไปกับอากาศ ตอนนั้นคุณจะตกอยู่ในสภาพที่ลำบากที่สุด เพราะแรงก็ไม่มี เงินก็หมด
นอกจากนี้คนเราเมื่อมีอายุยืนยาวขึ้นก็ย่อมรักหลาน ๆ อยากจะให้เขามีชีวิตที่สุขสบาย ดังนั้น การเกษียณอายุโดยมีเงินใช้จ่ายอย่างพอเพียง และมีมรดกตกทอดให้ลูกหลานนับเป็นชีวิตอันสมบูรณ์ เรื่องนี้คุณอาจจะปรึกษาตัวแทนชีวิตบางรายที่เสนอกรมธรรม์สำหรับการเกษียณอายุอย่างมีความสุข โดยเป็นการวางแผนลงทุนระยะยาวด้วยก็ได้ โชคดีที่ประเทศไทยไม่มีภาษีมรดก
เอาใจช่วยทุกคนครับ
ดร. สุวรรณ วลัยเสถียร
|